ปราชญ์ชาวบ้านคือบุคคลที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน และได้นำภูมิปัญญาดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตจนประสบความสำเร็จ สามารถถ่ายทอดเชื่อมโยงคุณค่าของอดีตกับปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ปราชญ์ชาวบ้านมีหลากหลายตามความถนัดและการปฏิบัติของแต่ละคน โดยมีความครอบคลุมเนื้อหาสาระและแนวทางการดำเนินชีวิตในวงกว้าง ดังจะเห็นได้จากการจำแนกประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2541) ไว้ 10 สาขา ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม สาขาการแพทย์ไทย สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน สาขาสวัสดิการ สาขาศิลปกรรม สาขาจัดการ สาขาภาษาและวรรณกรรม และสาขาศาสนาและประเพณี เนื่องจากปราชญ์ชาวบ้านมีองค์ความรู้ที่มีการหล่อหลอม ซึมซับ บ่มเพาะ ค้นคว้า และทดลองโดยใช้วิธีของตนเอง เพื่อทดสอบความถูกผิดแล้วคัดสรรกลั่นกรองสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตและแก่ท้องถิ่น โดยถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลอื่นได้สืบสานเป็นมรดกและสมบัติทางปัญญา ดังนั้น ประสบการณ์ ความรู้ ความคิด และวิถีการดำรงชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านแต่ละท่านล้วนเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่สำคัญของแผ่นดิน เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความเสียสละต่อสังคมและส่วนรวม ซึ่งจะช่วยพัฒนาท้องถิ่นและประเทศให้ยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตที่ดีงาม
เทศบาลตำบลเขาพระยาเดินธง ได้เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นดังกล่าว และเพื่อเป็น การยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่และเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ จึงได้จัดทำโครงการสำรวจข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น/ปราชญ์ชาวบ้าน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขึ้น
ข่าว ณ. วันที่ 7 มิ.ย. 2565 เวลา 14.25 น. โดย คุณ จิรายุทธ เหง่าทอง
ผู้เข้าชม 111 ท่าน |